โรคเข่าเสื่อมเป็นโรคที่มาพร้อมกับอายุที่สูงมากขึ้นของคนเราถือว่าเป็นอาการของโรคที่สำคัญอันสามารถพบได้ในวัยชราหรือคนที่มีอายุมากขึ้นเรื่อยๆ สังเกตได้ง่ายๆ คือคนที่มีอาการเหล่านี้เวลาจะลุกจะนั่งก็มักมีเสียงอุทาน โอยๆ เหมือนจะเจ็บตรงเข่าอยู่ตลอดเวลาส่งผลให้การใช้ชีวิตผิดปกติไปจากเดิม โดยอาการของโรคเหล่านี้จะเริ่มเป็นได้ตั้งแต่อายุ 30 ปี เป็นต้นไปหากไม่ได้รับการรักษาหรือการบริหารอย่างถูกวิธีก็จะทำให้มีอาการรุนแรงมากขึ้นแต่เมื่อช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไปแล้วอาการเหล่านี้จะแสดงออกมามากขึ้น
สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อม
- น้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้นส่งผลให้ข้อเข่ารับน้ำหนักมากขึ้นกว่าเดิม
- เกิดจากกรรมพันธุ์ที่เป็นโรคเกี่ยวกับกระดูกหรือข้อเข่า
- ใช้ร่างกายในกิจกรรมที่เกี่ยวกับข้อเข่ามากจนเกินไปติดต่อกันเป็นเวลานาน หรืออาจใช้งานข้อเข่าผิดวิธี เช่น การนั่งยองๆ บ่อย, การยกของหนักเป็นประจำ, เดิน วิ่ง ระยะไกลเป็นเวลานาน
- เกิดจากโรคที่ก่อให้เกิดอาการข้อเข่าอักเสบ เช่น โรครูมาตอยด์
- เกิดจากการประสบอุบัติเหตุหรืออาจเกิดจากการบาดเจ็บที่ทำให้ข้อเข่าเกิดความผิดปกติ
- การทานยาสเตียรอยด์ในระยะเวลานานซึ่งยาประเภทนี้จะส่งผลทางอ้อมกับกระดูกได้ในระยะยาวยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น
การป้องกันโรคเข่าเสื่อมที่ถูกวิธี
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่จะสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้ข้อเข่าเกิดอาการบาดเจ็บ หรือความเสี่ยงที่จะทำให้ข้อเข่าอักเสบ อาทิ การนั่งพับเพียบ, การนั่งขัดสมาธิ, นั่งยองๆ , นั่งคุกเข่าเป็นเวลานาน, หลีกเลี่ยงการเดินหรือวิ่งที่ผิดวิธีควรเลือกใส่รองเท้าให้เหมาะสมรองรับกับเท้าหากจะออกกำลังกาย
- ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้มีน้ำหนักมากจนเกินไป การที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อมได้ เพราะเมื่อน้ำหนักตัวเยอะแล้วเราเลือกทำกิจกรรมที่เคยทำปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง การออกกำลังกาย เข่าจะรับน้ำหนักมากกว่าคนน้ำหนักปกติ ซึ่งปกติเขาจะรับน้ำหนัก 5 เท่าของน้ำหนักตัวอยู่แล้ว จะทำให้เกิดอาการเข่าเสื่อมได้ง่าย
- พยายามหลีกเลี่ยงการทานยาที่มีผลต่อกระดูกทุกชนิดหากไม่จำเป็นจริงๆ โดยเฉพาะยาแก้ปวดหรือยาบำรุงไขข้อต่างๆ เนื่องจากยาพวกนี้มีฤทธิ์แรงส่งผลต่อกระดูกโดยตรง
- เลือกทานอาหารที่มีสารอาหารบำรุงกระดูกทั้งหลาย เช่น แคลเซียม แมงกานีส ฟอสฟอรัส โบรอน เป็นต้น
- งดการดื่มน้ำอัดลม ชา กาแฟ เนื่องจากจะทำให้เกิดอาการกระดูกพรุนจากน้ำอัดลม และสารคาเฟอีนไปขับแคลเซียมให้ออกมาทางปัสสาวะทำให้กระดูกอ่อนแอมากกว่าเดิมได้รวดเร็วมากขึ้น เกิดความเปราะบางได้ง่ายขึ้น